รีวิว Honda Rebel 1100 DCT ใคร ๆ ก็ขี่ได้!!
หนึ่งในมอเตอร์ไซค์ที่แฟนๆถามหามากสุดจากช่องโมโตครอสของเรา คือครุยเซอร์สไตล์เท่เฉพาะตัวจาก Honda ที่ใช้รหัสว่า Rebel
ในที่สุดเราก็มีโอกาสออกทริป กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี กับ Honda Rebel 1100 DCT พี่ใหญ่ตระกูลรีเบลที่ซ่อนประเด็นน่าสนใจเอาไว้มากมาย ..แต่..สุดท้ายรถคันนี้จะเหมาะกับใคร? ไปดูกัน!!
ดีไซน์
คาแรคเตอร์ความเป็น “รีเบล” โดดเด่นและแตกต่าง ดังนั้นเราจึงได้เห็นมุมมองของการ “คุมโทน” หล่อเข้มขรึมตามสไตล์ฮอนด้าครุยเซอร์ ความหล่อนี้มีแกนหลักจากโครงสร้างเฟรม Diamond Steel ที่ใช้ท่อเหล็กกล้าสานขึ้นเป็นชิ้นเฟรมพร้อมสวิงอาร์มแบบกลม ให้ขนาดรถที่ดูคอมแพคไม่ยาวเทอะทะ พร้อมกับองค์ประกอบของรถถูกประกอบเข้าไปอย่างสวยงาม ตั้งแต่ชุดบังโคลนหน้าหลัง ถังน้ำมันทรงสวยที่ตีมาแบบไร้รอยต่อ Seamless ความจุ13.6 ลิตร รวมทั้งเครื่องยนต์ที่ถูกร้อยเข้ากับเฟรมได้สวยงามไม่มีขัดตา
ระบบไฟส่องสว่างทั่วคัน Full LED ถ้าสังเกตโคมไฟหน้าทรงกลมให้หลอดโปรเจกเตอร์ 4 ดวง แบ่งการทำงานสูง-ต่ำอย่างละคู่ ไฟหน้าชุดนี้เราได้ทดลองใช้งานช่วงกลางคืน พบว่าให้แสงโคตรสว่าง แต่ระดับไฟต่ำยังเชิดสูงไปเล็กน้อย ขี่ไปก็มีเพื่อนร่วมทางที่สวนมากระพริบไฟเตือนเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่มีปัญหาเพราะระดับสูง-ต่ำของไฟสามารถปรับได้ครับ
ขุมพลัง
เรื่องใหญ่ของรถคันนี้คือ “ขุมพลังคลาสพัน” จากพื้นฐานเดียวกันกับ CRL1100L นั่นคือ เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง SOHC 8วาล์ว ลูกใหญ่ 92 มม. ช่วงชัก 81.5 มม. ความจุ1,084 ซีซี. ข้อเหวี่ยง 270 องศา ให้กำลังสูงสุด 85.82 ม้า ที่ 7,000 รอบ/นาที และซ่อนแรงบิด 98 นิวตันเมตรที่ 4,700 รอบ/นาที จากตัวเลขด้านขุมพลัง สัมผัสได้จากทุกจังหวะของการเปิดคันเร่ง ซึ่งบิดมันส์ตอบสนองฉับไว ให้ฟีลลิ่งอัตราเร่งเร้าใจมากๆ จนอยากจะถามว่านี่รถครุยเซอร์หรอเนี่ย!?ระบบ DCT โคตรเจ๋ง
สิ่งที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์แรงๆคือ คันเร่งไฟฟ้าพร้อมเกียร์ 6 สปีด บนระบบคลัตช์คู่อัจฉริยะ DCT ที่ใช้งานง่ายดายสุดๆ แค่สตาร์ทเครื่องยนต์-กดปุ่ม D แล้วบิดคันเร่งออกไป ระบบจะทำงานเปลี่ยนเกียร์ให้อัตโนมัติตามความเร็วที่เหมาะสม และยังมีปุ่ม A/M (Auto-Manual) ไว้ให้เลือกใช้ตามต้องการด้วย ถึงตอนนี้สัมผัสได้ว่า DCT เจนฯล่าสุดแม่นยำและเลือกเกียร์ให้เราได้สอดคล้องกับสภาพความเร็วจริงๆ
ทริปนี้ในช่วงการทดสอบช่วงขึ้นเขาแถวหลังเขื่อนศรีฯ เราเน้นใช้โหมด M เพื่อควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ ขึ้น-ลง ได้เอง การชิฟท์เกียร์ก็แค่กดนิ้วชี้และนิ้วโป้งมือซ้ายจากแพดที่ติดตั้งไว้พอดีตรงปะกับแฮนด์ฝั่งซ้ายซึ่งเป็นตัวช่วยอย่างดีในการ “ค้างเกียร์” เรียกเอนจินเบรกให้ขับขี่ลงเขาได้อย่างปลอดภัย
จากที่ลองใช้งานตลอดการเดินทางทดสอบ กรุงเทพฯ-เขื่อนศรีนครินทร์ ยืนยันว่าการชิฟท์เกียร์ใน DCT เจนฯนี้ ทำได้อย่างอิสระในโหมด D ด้วยครับ ในกรณีที่จอดติดไฟแดง มีปุ่ม N ให้กดเข้าสู่เกียร์ว่างเหมือนรถทั่วไป
ในด้านความเร็วปลายเท่าที่มีโอกาสลองขี่ไล่ความเร็ว พบว่าผ่าน 170 กม./ชม.ได้ครับ แต่ความจริงหากเร็วสูงเกิน 160 กม./ชม.ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับทรงรถ เพราะจะออกอาการหน้าไวพร้อมชกมวยในทันทีหากมีสภาพถนนไม่พร้อม ดังนั้นเอาแค่ขี่สบายๆ 120-130 เหลือกำลังให้เร่งแซงและถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย ดูจะเข้าท่ามากกว่าครับนั่นเอง
จากที่ลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เติมเต็มถังจากกทม.แล้ววิ่งไปกว่าระยะทาง 162.2 กม. เติมน้ำมันคืนเต็มถังอีกครั้งที่ปตท.แก่งเสี้ยว 7.24 ลิตร หารออกมาได้ตัวเลขประหยัดน้ำมันที่ 22.41 กม./ลิตร ถือว่าประหยัดน่าทึ่งทีเดียวเมื่อดูจากขนาดเครื่องยนต์
อิเล็กทรอนิกส์
เครื่องยนต์จัดเต็มมาขนาดนี้ มีระบบอิเล็กทรอนิกส์รองรับมากมายบนพื้นฐานคันเร่งไฟฟ้า ทำงานร่วมกับ Mode การขับขี่ 3+1 ได้ Standard ,Rain ,Sport และโหมด User ที่เปิดให้ผู้ขับขี่เซ็ตค่าต่างๆเซฟไว้ตามลักษณะการขับขี่เฉพาะตัว ซึ่งในแต่ละโหมดมีค่าการทำงานของระบบต่างๆลดหลั่นกันไป แน่นอนว่าเราเลือกเล่นโหมด Sport ที่ให้ฟีลลิ่งขับขี่มันส์จัดจ้านบ่อยที่สุดและลองสลับกับโหมดอื่นๆ ในช่วงท้ายทริปนี้มีโอกาสลองโหมด Rain ขี่ยาวๆเพราะฝนถล่มกาญจนบุรี ซึ่งได้พึ่งพาระบบ HSTC ป้องกันล้อหลังลื่นไถลทำงานหลายรอบ
อยากบอกว่า Rebel 1100 DCT มีระบบป้องกันล้อยก Wheelie Control มาให้ด้วยนะ ก็เข้าใจได้ว่าเพราะเครื่องยนต์มีแรงบิดหนัก ๆ ขนาดนั้น ส่วนอีกหนึ่งระบบเจ๋ง ๆ ที่แฮนด์ฝั่งขวา คือ ครูซคอนโทรลควบคุมความเร็วอัตโนมัติซึ่งลองแล้วใช้งานสะดวกง่ายดาย ซึ่งระบบนี้เหมาะมากในการขี่ทางไกลเพราะช่วยลดความล้าที่เกิดจากการเกร็งข้อมือบิดคันเร่งนานๆ
มิติ–การควบคุม
ด้วยระบบเมนเฟรมเดียวกับตระกูล Rebel รุ่นน้อง ท่านั่งการควบคุมจึงออกมากระชับกำลังเหมาะ เป็นช่วงรถที่อยากเรียกว่าสไตล์เฉพาะตัวของรีเบลแท้ๆ ซึ่งคนร่างเล็กก็สามารถขี่รถคันนี้ได้อย่างสบายๆ เมื่อขึ้นนั่งบนอานรู้สึกชัดว่าการยื่นขาไม่ยืดออกเท่าไหร่เพราะฟุตเพจไม่ฟอร์เวิร์ดมาก ระดับแฮนด์ก็ไม่สูงนัก ความสูงเบาะนั่งแค่ 700 มม. เท่านั้นทำให้ลงได้เต็ม 2 เท้า ระยะฐานล้อ 1,520 พร้อมช่วงแฮนด์กว้าง 834 มม.ถือว่าแคบทีเดียว น้ำหนักตัวขนาด 233 กก. อาจดูหนักไปนิด แต่ตัวรถมีศูนย์ถ่วงต่ำ ทำให้ทุกๆท่วงท่าการขับขี่ “อยู่มือ” จนมือใหม่เองก็สามารถขี่ได้ครับ
ช่วงล่าง ยาง เบรก
โช้คหน้าแบบเทเลสโคปิก | โช้คหลังคู่ Showa พร้อมซับแทงค์ |
ระบบกันสะเทือน เป็นออพชั่นที่ดูธรรมดา แต่ฟีลลิ่งที่ได้เกินคาด เพราะคู่โช้คหน้าเทเลสโคปิกใช้ขนาดแกนใหญ่ 43 มม. เคลือบไทเทเนียมออกไซด์ สามารถปรับพรีโหลดได้ตรงปุ่มที่หัวโช้ค ส่วนโช้คหลังคู่มาพร้อมซับแทงค์และการปรับพรีโหลดได้ 19 ระดับ ฟีลลิ่งช่วงล่างจากที่ได้ลองทริปนี้ ออกแนว นิ่ง-หนึบ-นุ่มนวล เน้นเก็บอาการบั๊มพ์ในสภาพทางดำที่พบได้ดี ส่วนฟีลลิ่งการเลี้ยวโค้งอยู่ในระดับที่เอาตัวรอดได้ ทำได้ดีกว่าครุยเซอร์คลาสพันบางรุ่นเลยล่ะ
Rebel 1100 DCT ให้ล้อหน้าขอบ 18 นิ้ว รัดด้วยยางหน้า130/70-18 ส่วนยางหลัง 180/65-16 ล้อหลัง 16 นิ้ว สังเกตว่ายางติดรถมาแนว “สปอร์ต” เมดอินเจแปนจาก Dunlop ทำให้อารมณ์การขี่ Rebel1100 ต่างจากตัว 500 และ 300 อย่างชัดเจน ถ้าเขียนให้เข้าใจง่ายๆคือมันทรงตัวดีกว่า เลี้ยวดีกว่า ขับเคลื่อนได้มั่นใจกว่าครับ
ดิสก์เบรกหน้าเดี่ยวพร้อมคาลิเปอร์เบรกแบบเรเดียลเมาท์ | ดิสก์หลังเดี่ยวเช่นกัน |
อีกหนึ่งจุดที่อยากกล่าวถึงคือ “ระบบเบรก” ซึ่งได้จานดิสก์หน้าเดี่ยวไซซ์ 330 มม. คาลิเปอร์เรเดียลเมาท์ 4 pot จานดิสก์หลัง 235 มม. คาลิเปอร์เดี่ยว พร้อม ABS 2 ชาแนล ฟีลลิ่งการเบรกโดยรวมตอบสนองการหยุดความเร็วได้ตามมาตรฐาน แต่ด้วยน้ำหนักรถระดับ 230 กก.ที่มีแรงเฉื่อยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการขี่ในความเร็วสูงแล้วต้องหยุดรถให้ได้ระยะปลอดภัย ดังนั้นผู้ทดสอบจึงมองว่าหาก Rebel 1100 เวอร์ชันต่อไปให้ดิสก์เบรกหน้าคู่มาเลยน่าจะเบรกได้มั่นใจกว่านี้ครับ
ฟังก์ชั่น
หน้าจอเรือนไมล์ดิจิทัล LCD | ปาร์กกิ้งเบรก |
ช่องเสียบกุญแจด้านข้างตัวรถ ตรงตามสไตล์คลาสสิก | เบาะนั่งแบบแยกชิ้น ถอดออกกลายเป็นที่นั่งเดี่ยวได้ง่าย ๆ |
ด้วยตัวตนของรถครุยเซอร์ที่ปกติไม่ค่อยมีฟังก์ชันอะไรมาก ดังนั้นมีเพียงหน้าปัดเรือนไมล์ทรงกลมที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด การควบคุมใช้งานจากปุ่มจอยสติ๊กที่แฮนด์ฝั่งซ้ายให้ปรับค่าต่างๆได้ละเอียดและคล่องตัว
-เซ็ตทริป A-B ได้ และตั้งค่าอื่นๆได้สมบูรณ์
-สามารถเลือกดูอัตราความเร็วเฉลี่ย อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยแบบเรียลไทม์
-มีพอร์ท USB Type C ใต้เบาะคนขี่ โดยต้องเปิดเบาะด้วยการบิดกุญแจสวนทางการสตาร์ท
-มีพาร์คกิ้งเบรกที่แฮนด์ฝั่งซ้าย ใช้งานง่ายเพียงดึงก้านเข้าหาตัวคนขี่ และกดปุ่มยกเลิกที่อยู่ใต้ก้านโยกเมื่อใช้งานเสร็จ
-เบาะนั่งให้มาแบบ 2 ชิ้น เบาะคนซ้อนสามารถถอดออกได้ให้กลายเป็นนั่งเดี่ยวง่าย ๆ
ค่าตัวและบทสรุป รีวิว Honda Rebel 1100 DCT
Honda Rebel 1100DCT เปิดราคาจำหน่ายที่ 429,000 บาท (ส่วนรุ่นธรรมดา ราคา 399,000 บาท) กับสไตล์อันแจ่มชัดของตระกูล “ฮอนด้า รีเบล”ซึ่งออกแบบมาตอบโจทย์แฟนๆฮอนด้าหรือคนรักครุยเซอร์ที่อยากได้ความแตกต่าง ถ้าคุณให้ความสำคัญกับคำว่า แรง-ดี ขี่ง่าย สะดวกสบายและครบถ้วนทั้งเทคโนโลยีและสมรรถนะ Honda Rebel 1100DCT คันนี้แหละ..มอเตอร์ไซค์สำหรับคุณ!!