8 มอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่น “ทรงอิทธิพลสุด” เท่าที่เคยมีมา!!

ที่มา : https://www.bikeexif.com
แปล/เรียบเรียง : 13pM

…มองย้อนกลับไปที่ “มอเตอร์ไซค์แบรนด์ญี่ปุ่น” ซึ่งเปิดตัวระหว่างปี 1960 ถึงปี 2000 เราได้เห็นคันที่ “โดดเด่น”หลายรุ่น แน่นอนไม่ใช่ทุกรุ่นที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายหรือ “ขี่ดี” ทว่าแต่ละคันก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเราหลงไหลเกี่ยวกับยานยนต์สองล้อเครื่องพวกนี้
…และนี่คือ ไอคอนสายพันธุ์ปลาดิบทั้ง 8 ที่คุณมักจะพบ “อิทธิพล” ของพวกมันต่อการออกแบบมอเตอร์ไซค์ที่คุณขี่อยู่กระทั่งปัจจุบัน!!

1.Kawasaki H1 Mach III (1968-76)

ตอนที่ Kawasaki H1 Mach III บุกสหรัฐอเมริกาในปี 1968 ตลาดรถจักรยานยนต์ของอเมริกานั้นถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแหวกสไตล์รถมอเตอร์ไซค์จากญี่ปุ่นในตอนนั้นอย่างสิ้นเชิง เพราะส่วนใหญ่เน้นขับขี่ง่าย ราคาไม่แพง แต่ Kawasaki H1 Mach III อาจทำให้คุณกลั้นหายใจด้วยความกลัว เพราะความแรงจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะ แบบ 3 สูบเรียง ระบายความร้อนด้วยอากาศ ปริมาตร 499 ซีซี. ให้กำลังสูงสุดถึง 60 แรงม้าที่ 7,500 รอบต่อนาที ระบบจ่ายเชื้อเพลิงจากคาร์บูเรเตอร์ Mikuni สามตัว
จากสถิติทำเวลาระยะควอเตอร์ไมล์ใน 12.4 วินาที ความแรงในแบบโหดจัดของ H1 Mach III ทำให้มีเสียงแซวกันว่า สมัยนั้นไฟท้ายรุ่นนี้มักจะแตกทุกคัน เพราะออกตัวไฟแดงสับยกหน้าลอยทุกครั้ง..และยังทำให้เกิดแม่หม้ายเยอะแยะ เพราะผู้ชายที่ขี่มันไปสู่ขิตกันเป็นว่าเล่น…โอ้ว!!

2.Kawasaki Z1 (1972-75)

เมื่อช่วงทศวรรษที่ 60 สิ้นสุดลง Kawasaki เริ่มสร้างมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา โดยมอเตอร์ไซค์คันใหม่ วางทิศทางใช้เครื่องยนต์สี่สูบเรียง แปดวาล์ว DOHC สไตล์รถแข่ง แต่ยังเป็นระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ มอเตอร์ไซค์ต้นแบบคันนั้นมีชื่อรหัสว่า “New York Steak” ซึ่งนักทดสอบชาวอเมริกันได้พัฒนา Kawasaki รุ่นใหม่ โดยขี่บนถนนให้เร็วและไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นจึงนำข้อมูลมาแก้ไขส่วนที่บกพร่อง
จนกระทั่งการเปิดตัวในปี 1972 Kawasaki Z1 ได้กลายเป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่เทียบเท่ากับรถมัสเซิลคาร์ที่ทรงพลังและดุดัน ด้วยเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 903 ซีซี. 82 แรงม้า แฮนด์บาร์และแชสซีที่เปลี่ยนไป จุดศูนย์ถ่วงสูงหมายถึงการต้องเกร็งกล้ามเนื้อคุมรถเวลาเข้าโค้ง และเริ่มทำให้เกิดฟีลลิ่งการขับขี่ที่เมื่อต้องเอนลงจนสุด ก็ต้องจัดท่าลีนอินดึงรถเข้าด้านในแทนที่จะเกาะอยู่กับอานแบบเดิมๆ ถึงตอนนั้น Z1 ได้ให้คำจำกัดความของ Universal Japanese Motorcycle (UJM): สตรีทไบค์เครื่องยนต์สี่สูบเรียงซึ่งครองใจนักบิดทุกประเภท
ในยุค 80 Z1 ได้เปลี่ยนชื่อและพัฒนาชิ้นส่วนกลไกใหม่ โดยปรากฏรุ่นที่มี “เทอร์โบชาร์จ” ขึ้นมาด้วย จากนั้นมอเตอร์ไซค์ Kawasaki สายพันธุ์นี้ก็ขึ้นไปคว้าตำแหน่ง Winner ของการแข่งขัน AMA Superbike และช่วยให้ Eddie Lawson และ Wayne Rainey กลายเป็นแชมป์โลก Grand Prix …แม้กระทั่งตอนนี้ Kawasaki KZ1000R Eddie Lawson Replica ปี 1982-83 ก็ยังเป็นหนึ่งในรถคลาสสิกของญี่ปุ่นที่เจ๋งสุด!!

3.Yamaha RD400 (1975-1980)

มีคำกล่าวว่า นักบิดสองประเภทที่จะหลงรัก Yamaha RD400 คือพวกที่สวมหมวกกันน็อกBell ใส่แจ็คเก็ตหนังแล้วพยายามจะเป็นนักแข่งในสนาม ส่วนอีกพวกคือประเภทเด็กพังก์สวมหมวกกันน็อกไข่เค็มพร้อมกางเกงขาสั้นที่นัดเจอหญิงหน้า 7-Eleven (ฮา)
เรื่องของเรื่องคือเมื่อ Yamaha เข้าสู่ธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ พวกเขาได้สร้างรถขึ้นมา 2 สาย สายหนึ่งสำหรับจักรยานยนต์แข่งพันธุ์แท้ซึ่งเหมาะกับกติกาของยุโรป และอีกสายหนึ่งสำหรับกติกาการแข่งของอเมริกานั่นเองที่ RD400 กลายเป็นรถโพรดักชัน ที่พาให้ Eddie Lawson กลายเป็นแชมป์ American Grand Prix คนที่สอง
ว่ากันตรงๆ RD เป็นมอเตอร์ไซค์ขนาด “กะทัดรัด” ที่เกิดมาเพื่อชาวพังก์จริงๆ เครื่องยนต์สูบคู่แนวตั้งขนาด 399 ซีซี 2 จังหวะ ระบายความร้อนด้วยอากาศที่แสนจะเรียบง่าย(แต่ประณีต) ให้กำลัง 44 แรงม้า บนน้ำหนักตัว 160 กก.ความเร็วสูงสุดประมาณ 168 กม./ชม. แม้ว่าคุณจะสวมกางเกงขาสั้นรองเท้าแตะก็ตาม!!
ทั้งนี้ RD400 จบเส้นทางในอเมริกาหลังจากปี 1980 เนื่องจาก มาตรฐาน EPA สำหรับการปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนทำให้เครื่องยนต์สองจังหวะต้องเลิก มาอยู่บนท้องถนน!!!

4.Yamaha SR500 (1978-1981)

ความเรียบง่ายทางกลไกของ Yamaha SR500 สไตล์ที่สง่างามนั้นดึงดูดใจอย่างลึกซึ้งและเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้น รถคันนี้ทำให้นึกถึงทุกสิ่งที่ดีเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์อังกฤษสูบเดี่ยวแบบดั้งเดิม เพียงแต่มีดิสก์เบรกและล้ออลูมิเนียม SR500 กับเครื่องยนต์ 499 ซีซี. SOHC เสื้อลม ให้กำลังสูงสุด31.5 แรงม้า ความเร็วสูงสุด144 กม.ต่อชั่วโมง( น้ำหนัก 158 กก.) ซึ่งเหมาะสำหรับสายชิลล์มากกว่าสายแว้น ที่สำคัญคือถ้ารักจะเล่นต้องไม่กลัวหน้าแข้งแตกจากคิกสตาร์ทอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยนะ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังมีคนครอบครอง SR500 อยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งแต่ละคันได้รับการทะนุถนอมจากเจ้าของ ตลาดมือสองจึงแทบไม่เห็นหลุดมา!!

5.Honda CBX (1979-1982)

ในช่วงปี 1970 ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มอเตอร์ไซค์ Honda ได้มอบหมายการสร้างรถรุ่นใหม่ให้กับ ShoichiroIrimajiriวิศวกรหนุ่มผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลซึ่งอยู่เบื้องหลังการแข่งรถ Grand Prix ของฮอนด้าในช่วงกลางยุค 60 …ดังนั้นเมื่อบรรดาดีลเลอร์American Honda ไปเยือนญี่ปุ่นในปลายปี 1977 จึงได้เห็น CBX เป็นครั้งแรกพวกเขาถึงกับทึ่ง ต่างยกมือส่งเสียงเชียร์ให้วางจำหน่ายรถรุ่นนี้อย่างเต็มที่
Honda CBX ปี 1979 กลายเป็น “ผลงานชิ้นเอก” ราวกับว่าทุกสิ่งที่Honda เคยเรียนรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ถูกกลั่นออกมาเป็นรถคันนี้ Irimajiriวางเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง ปริมาตร 1,047 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ พร้อมฝาสูบแบบ 24 วาล์ว …ให้กำลังสูงสุดได้ 105 แรงม้าที่ 9,000 รอบต่อนาที เทคนิคระบบส่งกำลังจากส่วนกลางสไตล์รถแข่งเพื่อลดภาระแรงบิดบนเพลาข้อเหวี่ยง และวางตำแหน่งระบบจุดระเบิดไว้ด้านหลังข้อเหวี่ยง รองรับการจ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ 6 ตัว พร้อมความบ้าระห่ำบนความเร็วสูงสุด 217 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!!!
…แต่..อย่าลืมนะมอเตอร์ไซค์คันนี้กินน้ำมันเกินไป หนักเกินไปสำหรับการเข้าโค้งอย่างรวดเร็ว ร้อนเกินไปสำหรับการขี่ทางไกล และค่าซ่อมแพงยับด้วย!!!

6.Suzuki GS1100S Katana (1981-1987)

นี่คือมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นที่โดดเด่นสุดในยุค 80 ก็ว่าได้ Suzuki GS1100S Katana ปี 1981 คือตัวอย่างการประสบความสำเร็จในการพัฒนาสไตล์รถมอเตอร์ไซค์ให้ทันสมัย ซึ่ง Suzuki ได้ว่าจ้าง Target Design อดีตหัวหน้าฝ่ายออกแบบรถจักรยานยนต์ของ BMW Hans Muthร่วมกับ Jan Fellstromและ Hans-Georg Kastenเพื่อสร้างรูปลักษณ์แบบ “ไฮเปอร์ยูโรเปียน” ที่ไม่เพียงแต่กระตุ้นการแข่งรถมอเตอร์ไซค์บนถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศิลปะบริสุทธิ์ของงานดีไซน์ด้วย
Katana มีโครงสร้างแข็งแรงพร้อมรูปทรงเรขาคณิต ระบบกันสะเทือนคุณภาพสูงตามมาตรฐาน เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง เสื้อลม ฝาสูบ 16 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 100 แรงม้า…นอกเหนือไปจากนั้น หน้าตาของ Katana สะกดใจนักบิดทั่วโลกอยู่กระทั่งทุกวันนี้

7.Honda CR500 (1984-2001)

ในยุค 60 มอเตอร์ไซค์วิบากคือ scrambler ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสตรีทไบค์ขี่ช้าๆของอังกฤษที่มีท่อไอเสียสูง ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำหรับการเพิ่มระยะห่างจากพื้น ซึ่งจะทำให้ขาของแฟนคุณไหม้ได้เสมอเมื่อให้เธอซ้อนกลับบ้าน (ฮา)
แต่เมื่อ Honda CR500 ปรากฏตัวในปี 1984 มันได้กลายเป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่ Honda เรียนรู้จากทศวรรษของการแข่งรถวิบาก นี่คือสิ่งที่ “ใกล้เคียงที่สุด” กับรถแข่งโรงงานที่ออกมาให้ใช้จริงที่โรงรถคนรักสายเดิร์ท ถึงกับมีคนบอกว่ารถวิบากคันนี้เหมือนสัตว์ประหลาดที่มีเครื่องยนต์ thumper 2 จังหวะ 491 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ เพราะโคตรดุ!ด้วยกำลังมากถึง 53 แรงม้า!! ประมาณว่าถ้าคุณไปยืนผิดทิศทางแล้วถูกเสียงเครื่องยนต์ CR500 คำรามผ่านท่อออกมา มันอาจจะฆ่าคุณได้เลย!!

Honda CR500 มีการผลิตจำหน่ายจนถึงปี 2001 แล้วถูกแทนที่ด้วยวิบาก 4 จังหวะรุ่นใหม่ …อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของ CR500 นั้นทรงพลังมาก จนมีข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่า Honda จะฟื้นรุ่น CR500 ให้เป็นรถดูอัลสปอร์ต92 แรงม้า…คุ้นๆมั้ยว่าข่าวลือนี้เชื่อมโยงกับเครื่องยนต์ใหม่ 750 ซีซี.ที่อยู่ใน Transalpนั่นไง!!!

8.Suzuki GSX-R750 (1985-1987)

“ถังอูฐ” Suzuki GSX-R750 (1985-1987) เป็นต้นแบบของสปอร์ตไบค์สมรรถนะสูงยุคใหม่ (ซูซูกิยังคงไลน์อัพ GSX-R มากว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน)
เรื่องราวของ GSX-R เริ่มต้นขึ้นจริงๆ หลังจากที่ Kevin Schwantzนำ GSX-R750R ที่ปรับแต่งโดย Yoshimura ของเขาขึ้นสู่อันดับที่สองในปี 1986 กับรายการ Daytona 200 โดย GSX-R750 คันแรกมีน้ำหนักเพียง 175 กก. (ไม่รวมของเหลว) โดยใช้ เครื่องยนต์ 749 ซีซี. 4 สูบเรียง ระบายความร้อนด้วยอากาศ ด้วยสูตร ช่วงชัก x กระบอกสูบ แบบ over-square เพื่อให้ได้กำลัง 100 แรงม้า ที่ 10,500 รอบต่อนาที พร้อมนวัตกรรมเมนเฟรม “อลูมิเนียมอัดขึ้นรูป” ที่แข็งแรง รองรับการสร้างบอดี้สไตล์รถแข่งฟูลแฟริ่ง ร่วมด้วยล้อและยางขนาด 18 นิ้วให้ความสมดุลในการเข้าโค้ง

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา องค์ประกอบของมอเตอร์ไซค์รหัส GSX-R ได้เปลี่ยนไป ทั้งการระบายความร้อนด้วยของเหลว ระบบจ่ายฉีดเชื้อเพลิงและโครงสร้างรถ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือหลักพื้นฐานที่ว่า GSX-R เป็นการแสดงเทคโนโลยีการแข่งรถบนท้องถนนที่ถูกต้องตามกฎหมาย…ของเค้าแรง ว่ากันอย่างนั้น!!!