Honda DCT Adventure Trip บุกตะลุยไปกับ “ความสุขการขับขี่” จากเทคโนโลยี DCT

Honda DCT Adventure Trip บุกตะลุยไปกับ “ความสุขการขับขี่” จากเทคโนโลยี DCT
เรื่อง : ธันวา ทาสแมว

เป็นอีกครั้งที่นิตยสารโมโตครอสได้รับเชิญจาก Honda BigBike ให้ร่วมเดินทางเปิดประสบการณ์สุดท้าทายกับเทคโนโลยี DCT (Dual Clutch Transmission) ในรถจักรยานยนต์ Honda ตระกูล Adventure Bike บนรูธ “กรุงเทพฯ-หัวหิน” ผ่านเส้นทางที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของธรรมชาติในจังหวัดเพชรบุรี ตะลุยฝุ่นแถวหนองหญ้าปล้อง และไปจบทริปที่เมืองหรูหราอย่างหัวหิน …หลังผ่านการทดสอบแบบจัดหนักในครั้งนี้ผมก็มีคำตอบมาฝากเพื่อนๆครับ
เลือก Honda CRF1000L Africa Twin DCT เป็นคู่มือ

จุดสตาร์ทอยู่ที่ Honda BigWing BKK กรุงเทพฯ ซึ่งผมได้เลือก Honda CRF1000L Africa Twin DCT ใช้ขี่ในครั้งนี้ โดยฮอนด้าได้จัด “โค้ชพี่เล่-เจษฎางค์ โชตนา” เจ้าสำนัก Bikelane Dirttrack Control มาเป็นมาร์แชลและดูแลการขับขี่ตลอดทริป

ได้เวลาเริ่มทำความรู้จักกับเทคโนโลยี Honda DCT ใน CRF1000L คันนี้กันก่อน
ปรับตัวสักนิด เริ่มที่มือซ้าย ผมยกหัวใจสำคัญนี้ไว้กับ นิ้วชี้และนิ้วโป้ง เพราะทั้งสองนิ้ว สามารถเพิ่มหรือลดเกียร์ได้ด้วยปุ่มชิฟท์ “+” ที่อยู่ด้านหน้าประกับและลดเกียร์ได้ด้วยปุ่ม “-“ ที่ด้านหลังประกับ ย้ายมาทางมือขวามีสวิตช์ on-off ที่มาพร้อมปุ่มสตาร์ท พอติดเครื่องเรียบร้อย ก็มีสวิตช์ที่สำคัญที่ใช้ในการเลือกโหมดการทำงานหลักๆทั้งสองโหมด มีสัญลักษณ์ “S-D”,”N” เรียงจากด้านซ้ายไปขวา “N” = เกียร์ว่าง “D”/Drive = โหมดขับขี่แบบเปลื่ยนเกียร์อัตโนมัติ “S”/Sport = โหมดขับขี่แบบเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติเช่นกันแต่จะถูกเปลี่ยนเกียร์ในรอบการทำงานของเครื่องยนต์ที่สูงกว่าโหมด “D” ทั้งสองโหมดสามารถเพิ่มและลดเกียร์ได้ตามต้องการด้วยปุ่ม “+” และ “-“ ทางประกับด้านซ้าย และสุดท้ายปุ่มโหมดการทำงานแบบ manual อยู่ในส่วนของปุ่ม “A/M” ที่ถูกแยกออกมาอยู่ด้านล่าง โหมดนี้ผู้ขับขี่สามารถเพิ่มและลดเกียร์ได้ตามความต้องการของผู้ขับขี่และการทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติจะถูกตัดออกไป

Stage 1 : สภาพการจราจรติดขัด
การออกเดินทางจากกทม.เวลา 8.00น. ถือเป็นความท้าทายแรกเลย ปกติการต้องขี่รถแอดเวนเจอร์ขนาดใหญ่บนการจราจรที่ติดขัดก็เป็นฝันร้ายเบาๆของพวกรถสูงใหญ่อยู่แล้ว เพราะต้องคอยประคองรถพร้อมกับควบคุมคลัทช์ละเอียดกว่าปกติ จนสุดท้ายก็จะนำมาซึ่งการปล่อยคลัทช์ที่ไม่สัมพันธ์กับคันเร่งจนทำให้เกิดการดับของเครื่องยนต์ และนี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ระบบเกียร์ DCT เข้ามาอยู่ในรถแอดเวนเจอร์ขนาดใหญ่ ทำให้ผมสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ไม่พะวงกับคลัทช์ ผมใช้โหมด “D” ระบบเกียร์ก็สามารถทำงานได้อย่างสมูทไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเกียร์หรือเชนเกียร์ลง ทำให้ใช้สมาธิได้เต็มที่กับการเลือกเส้นทางในการขับขี่ และทำให้ผ่านการจราจรที่หนาแน่นในช่วงเช้าไปได้อย่างสบายๆ

Stage 2 : การเดินทางระยะทางไกล
ทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม มุ่งหน้าไปจังหวัดเพชรบุรี “เขื่อนแก่งกระจาน” บน “ทางดำ” ช่วงนี้ เราเดินทางยืนพื้นความเร็วกันอยู่ที่ 100-130กม./ชม. ในโหมด “D” ที่ผมใช้ ถือว่ามีการตอบสนองที่ค่อนข้างดี แต่มีการเปลี่ยนเกียร์ในรอบที่ไม่สูงนักจะเปลี่ยนอยู่ 3,000-4,000 รอบ ในจุดนี้เข้าใจได้ไม่ยากเพราะในโหมดนี้ส่งความสมูทให้กับผู้ขับขี่มากที่สุดนั่นเอง และในส่วนของการไล่เกียร์ลงก็สามารถทำได้อย่างราบรื่นเช่นเดียวกัน มันให้ความรู้สึกถึงเอนจิ้นเบรคที่ทำงานได้อย่างพอดี (ข้อควรระวังเล็กน้อยคือในการไล่เกียร์ลงในโหมดนี้อาจจะช้าเล็กน้อย เนื่องจากต้องการความสมูทสูง แนะนำว่าถ้าหากต้องการเรียกเอนจิ้นเบรคในสถานการณ์ฉุกเฉินควรเชนเกียร์ด้วยตัวเองจากสวิตช์ “-” ด้านประกับซ้ายมือ)
บางช่วงเวลาผมได้ทดลองใช้งานของโหมด “S” ซึ่งเรียกใช้ได้ง่ายขณะขับขี่ เพียงแค่กดลงไปหนึ่งครั้งบนสวิตช์เดียวกันกับโหมด “D” ก็เปลี่ยนโหมดได้อย่างง่ายดาย โหมด “S” ยังคงทำงานเช่นเดียวกันกับโหมด “D” แตกต่างกันที่การไต่ระดับเกียร์ขึ้นและลง สามารถทำได้ใกล้เคียงกับการควบคุมของมนุษย์มากกว่าและมาพร้อมกำลังขับเคลื่อนที่ดุดันมากยิ่งขึ้น การไล่เกียร์ขึ้นจะถูกลากรอบสูงกว่าโหมด “D” อยู่ที่ 6,000-7,000 รอบ สุดทุกเกียร์ การไล่เกียร์ลงก็ถือว่าโหมดนี้ทำได้ดีเช่นกันทันใจให้ความรู้สึกถึงเอนจิ้นเบรคแน่นหนึบกำลังพอดีสำหรับผู้ขับขี่สายโหดโหมดนี้ตอบโจทย์อย่างแน่นอน

Stage 3 : ผจญภัยในเส้นทางธรรมชาติ
ช่วงบ่ายมีการทดสอบบนเส้นทาง Off-Road มีคำแนะนำ ว่าให้ทดลองใช้โหมด “G” ซึ่งทำหน้าที่ช่วยควบคุมคลัทช์ของระบบเกียร์อัตโนมัติ DCT ให้ได้ใกล้เคียงที่สุดกับการควบคุมของมนุษย์ ที่น่าสนใจคือสามารถเรียกใช้คู่กับทุกโหมดได้ ซึ่งสวิตช์การสั่งการอยู่ด้านข้างของเรือนไมล์อยู่ติดกับปุ่ม เปิด-ปิดระบบ “ABS” gikออกเดินทางกันต่อวิ่งลัดเลาะไปด้านหลังของเขื่อนแก่งกระจาน ผมเริ่มด้วย “S” โหมด จับคู่กับ “G” โหมด เหตุผลก็เพราะการควบคุมในโหมด “S” สำหรับผมแล้วมันใกล้เคียงที่สุดกับการควบคุมรถของผมถ้าจับคู่กับ “G” ก็จะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ทำได้ดีเลยครับสำหรับระบบเกียร์ DCT กับเส้นทาง Off-Road กำลังของเครื่องยนต์มาเต็ม เอียงรถนิดบิดคันเร่งหน่อยท้ายออกทันที ให้กลิ่นอายเหมือนรถในเกียร์ธรรมดาไม่ได้แตกต่างเลยเรื่องพละกำลัง

สำหรับผมมันช่วยเพิ่มเวลาในการตัดสินใจกับอุปสรรคที่เจอและแก้สถานการณ์ได้เร็วมากขึ้น และบางครั้งที่เราต้องใช้ความเร็วต่ำ บาลานซ์รถในเส้นทางที่ลาดชัน หากเป็นเกียร์ธรรมดาแล้วเกิดปล่อยคลัทช์ไม่สัมพันธ์กับคันเร่งเครื่องยนต์อาจจะดับบนทางลาดชัน ระบบเกียร์ DCT ก็สามารถช่วยผู้ขับขี่ในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องกังวลเรื่องการประคองคลัทช์อีกต่อไป เรียกได้ว่าประทับใจมากในจุดนี้

หัวใจสำคัญอีกส่วนอยู่ที่สองนิ้วทางประกับด้านซ้าย คือ นิ้วชี้และนิ้วโป้งที่จะคอยควบคุมปุ่ม “+” และ “ – ” ในการเพิ่มและลดเกียร์ทำให้การควบคุมรถทำได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบางสถานการณ์ผู้ขับขี่อาจต้องเรียกใช้เอนจิ้นเบรคในการหยุดรถก่อนถึงโค้ง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ก็สามารถควบคุมได้ตามต้องการ แทบไม่แตกต่างจากการขับขี่ด้วยเกียร์ธรรมดาเลย และหากผู้ขับขี่ต้องการควบคุมระบบเกียร์ทั้งหมดด้วยตัวเองเพื่อความแม่นยำสูงสุดในการควบคุมรถ ก็สามารถกดที่ปุ่มที่แยกออกมาด้านล่างของปุ่มโหมด “D-S” จะมีสัญลักษณ์ “A/M” เป็นโหมดการควบคุมระบบเกียร์แบบ Manual ซึ่งผมได้ทดลองใช้งานก็เพิ่มอรรถรสในการขับขี่ให้มันส์มากยิ่งขึ้นไปอีก ควบคุมง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

เทคโนโลยีในส่วนต่างๆที่ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวที่สุดนี้ของ Honda DCT เอกสิทธิ์เฉพาะของรถ Honda BigBike โดยหัวใจหลักคือระบบส่งกำลังแบบคลัทช์คู่ ในปัจจุบันนั้น มีอยู่ใน Goldwing, VRF1200X, CTX700N , NM4, NC750X, X-ADV และ Africa Twin แต่ละรุ่นนั้นมีจุดประสงค์ในการออกแบบเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายในทุกความแตกต่างกลับมีจุดหมายเดียวกันคือ การคำนึงถึง “ความสุขในการขับขี่” ของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง!!!