“Kawasaki Z E-1 และ Ninja E-1” เปิดตัวพร้อมจำหน่ายแล้วที่ยุโรปและอเมริกา

เปิดก่อนได้เปรียบ.. อาจจะเป็นหนทางที่คาวาซากิกำลังมองหา เมื่อค่ายยักษ์เขียวเปิดตัวไลน์อัพพลังงานสะอาดรวดเดียวหลายรุ่นและเป็นรหัสยอดนิยมทั้งนั้น.. ไม่ว่าจะเป็นเน็กเก็ต Z E-1 หรือสปอร์ต Ninja E-1 ล้วนถูกออกแบบมาน่าสนใจ.. เพราะอะไร? เพราะความท้าทายในการวางรากฐานของรถพลังงานไฟฟ้านั้นมีหลายเรื่องต้องพะวง และดูเหมือนว่าคาวาซากิจะดีไซน์ออกมา แก้ไข “ปม” เหล่านั้นได้ลงตัวทีเดียว

ขุมพลัง
ทั้ง Z E-1 และ Ninja E-1 ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเดียวกัน คือ 5kW เรียกพละกำลังสูงสุดได้ถึง 9 kW ถูกออกแบบมาเน้นพละกำลังช่วงออกตัวให้ตอสนองได้ดีในลักษณะการขับขี่แบบ City Ride ที่ต้อง “บิดๆ-หยุดๆ” อยู่ตลอดเวลา สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 105 กม./ชม. (E-Boost)

ทั้ง 2 รุ่น ส่งกำลังจากมอเตอร์ผ่านระบบโซ่ไปที่ล้อหลังโดยไม่ต้องคอยเปลี่ยนเกียร์.. หรือขับแบบออโตเมติกนั่นแหละ.. อย่างไรก็ดี คาวาซากิเลือกที่จะใช้เบรกหลังไว้ที่เท้าอยู่ เพื่อฟีลลิ่งการขับขี่มอเตอร์ไซค์ขนานแท้.. แทนที่จะใช้มือเบรกหลัง เหมือนที่เห็นได้ในสกู๊ตเตอร์หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั่วไป

แบตเตอรี่
คาวาซากิเลือกใช้ “แบตเตอรี่ Swap ได้” วางเรียงคู่กันในตำแหน่งวางถังน้ำมันเดิม ที่ตอนนี้กลายเป็นช่องเก็บของอเนกประสงค์ไป โดยแต่ละก้อนนั้นแบกน้ำหนักที่ 11.5 กิโลกรัมเอาไว้ กับความจุ 50.4V 30 Ah.. เท่ากับว่ารถคันหนึ่งจะได้ความจุแบตฯสูงสุด 60 Ah .. ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายที่สุดสำหรับยูสเซอร์ “บิดกุญแจเปิดถัง-ปลดล็อก-หิ้วเข้าบ้าน” โดยสามารถชาร์จไฟเข้ารถถึง 3 แบบด้วยกัน.. ถอดไปชาร์จเข้าก้อนแบตฯโดยตรง, ชาร์จผ่านแท่นชาร์จ หรือชาร์จผ่านตัวรถได้เลย(ใต้เบาะคนซ้อน) โดยไม่ต้องถอดแบตฯออก..

ทั้งนี้ คาวาซากิเคลมระยะเวลาชาร์จเอาไว้ที่ 7.4 ชั่วโมง หรือ 3.7 ชั่วโมงต่อ 1 ก้อน ..สามารถชาร์จจาก 20 ถึง 85% ได้ใน 1.6 ชั่วโมง.. “ไม่มีระบบชาร์จเร็ว” หรือก็คือเสียบชาร์จไฟบ้านปกติเท่านั้น และอะแดปเตอร์ชาร์จเองก็เป็นอุปกรณ์ที่แยกออกมาจากตัวรถ.. หากต้องการชาร์จระหว่างเดินทางก็ต้องพกอะแดปเตอร์ไปไหนมาไหนด้วย

แล้วระยะทางวิ่งสูงสุดเท่าไร? ประมาน 66 กิโลเมตรต่อ 1 ทริป.. คาวาซากิได้กล่าวไว้ ซึ่งเป็นระยะทางแบบคำนวณด้วยโหมดขับขี่ปกติ ยังไม่เจอทางชัน ยังไม่ใช้ฟังก์ชัน E-Boost ยังไม่เจอลมต้าน หรือไรเดอร์ตัวใหญ่ไซซ์พิเศษ.. อย่างไรก็ดี Z E-1 และ Ninja E-1 มีระบบ Regenerative braking หรือ “ชาร์จไฟคืนเมื่อปิดคันเร่ง” ที่จะทำงานเมื่อแบตเตอรี่อยู่ตำกว่า 60% ลงไปด้วย

โครงสร้าง
“เบาที่สุดเท่าที่ทำได้” กับเฟรมถัก ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่อยู่ในตระกูลสตรีทไบค์จากคาวาซากิอยู่แล้ว นำมาปรับศูนย์ถ่วงน้ำหนักใหม่ให้อยู่ต่ำลงจากเครื่องสันดาป แบกทั้งน้ำหนักมอเตอร์และแบตเตอรี่ในจุดที่ลงตัว

ขณะที่มิติรถนั้นอ้างอิงจาก Ninja 400 โต้งๆด้วยหลายสาเหตุ ทั้งเป็นรถที่ขี่ง่าย เข้าถึงง่าย แถมยังเป็นโมเดลขายดี รวมถึงต้องการสร้างประสบการณ์ขับขี่มอเตอร์ไซค์ EV ที่ใกล้เคียงรถสันดาปมากที่สุด

ระบบช่วงล่างใช้กันสะเทือนคู่หน้าแบบ USD ขนาดแกน 41 มม. พร้อมโช้คอัพหลังเดี่ยวปรับพรีโหลดได้ เซ็ตอัพมาเพื่อใช้งาน City Ride โดยเฉพาะ ติดตั้ง ABS หน้า-หลังพร้อมสรรพ กับดิสก์หน้าเดี่ยวขนาด 290 มม. ส่วนล้อและยางนั้นใช้ขอบ 17 หน้า 100/80-17 และ 130/70-17 หลัง

และผลจากการเช็ตอัพให้น้ำหนักเบาที่สุดของคาวาซากิก็เป็นผล เพราะทั้ง 2 รุ่น มีน้ำหนักเบากว่ารุ่นพื้นฐานอย่าง Z400 และ Ninja 400 ได้ราว 30 กิโลกรัม..

ฟีเจอร์และฟังก์ชัน
Ninja E-1 และ Z E-1 มีโหมดขับขี่ให้ 2 โหมด เป็นพื้นฐาน พร้อมตัวเลือก “E-Boost” โดยโหมด Eco นั้นจะเน้นระยะทางต่อการใช้งาน ปรับแรงบิดให้เบาลง ลดท็อปสปีดลงมาเหลือเพียง 60 กม./ชม. ส่วนโหมด Road จะเหมาะสมกับการขับขี่ใช้งานทั่วไป มีเลขท็อปสปีดให้ที่ 85 กม./ชม.

ด้านฟังก์ชัน E-Boost นั้น “ถ้าเลือกใช้งาน” จะเพิ่มความเร็วสูงสุดและแรงบิดให้ในทุกโหมด แต่จะสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 15 วินาทีเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการโอเวอร์ฮีทของแบตเตอรี่และมอเตอร์นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชัน “โหมดเดิน” สำหรับอำนวยความสะดวกเมื่อต้องเข็นจอดรถ ทั้งเดินหน้าและถอยหลังได้ง่ายๆ เพียงเปิดหรือปิดคันเร่งเท่านั้น จำกัดความเร็วสำหรับเดินหน้าไว้ไม่เกิน 5 กม./ชม. และความเร็วถอยหลังที่ 3 กม./ชม.
ส่วนฟีเจอร์อื่นๆก็ยังมีหน้าปัดเรือนไมล์แบบดิจิทัล TFT เลือกเปลี่ยนโหมดแสดงผลเป็นกลางวัน-กลางคืนได้ หรือเลือกให้ปรับอัตโนมัติก็ได้ เชื่อมต่อบลูทูธกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Kawasaki Rideology มีช่องเก็บของด้านหน้าใต้ถังน้ำมันขนาด 5 ลิตร และช่องเก็บของจุกจิกเล็กๆใต้เบาะหลังก็พอทำได้เช่นกัน

สำหรับแฟนๆยักษ์เขียวชาวไทยอาจจะต้องทำใจหากอยากเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ EV ทั้ง 2 คันนี้ เพราะราคาจำหน่ายที่อเมริกานั้นราวๆ 2 แสนปลาย.. อาจจะไม่เหมาะกับบ้านเราเท่าไร รวมถึงตลาดรถไฟฟ้าและทิศทางของรัฐบาลไทยก็ยังไม่ชัดเจนพอที่คาวาซากิจะหันมาทำตลาด ณ ปัจจุบัน.. แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจครับ อย่างน้อยโรงงานคาวาซากิบ้านเราก็ยังเป็นฐานผลิตส่งออกที่ใหญ่เอาเรื่องอยู่นะ!